งานทะเบียนราษฎร์

งานทะเบียนราษฎร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 เม.ย. 2567

| 6,027 view

 

ทำการนัดหมายกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ทาง [email protected] หรือ โทร +3614384020   

โปรดตรวจสอบวันหยุดของสถานเอกอัครราชทูตฯ ก่อนมารับบริการเพื่อความสะดวกของท่าน ที่นี่

 

การจดทะเบียนเกิดบุตร (ขอสูติบัตรไทย)
การจดทะเบียนสมรส/ ทะเบียนหย่า
การจดทะเบียนการตาย (ขอมรณบัตร)

 


 

การจดทะเบียนเกิดบุตร (ขอสูติบัตร)

1. การจดทะเบียนเกิดบุตร

      1.      การจดทะเบียนเกิดบุตรขอให้นัดล่วงหน้าที่ [email protected] 
             โปรดตรวจสอบวันหยุดของสถานเอกอัครราชทูตฯ ก่อนนัดหมาย เพื่อความสะดวกของท่าน ที่นี่

      2.      ทั้งบุตรและผู้ปกครอง (บิดาและมารดา) จะต้องมาติดต่อด้วยตนเอง
      3.      เด็กที่จะขอสูติบัตรไทยจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องเป็นเด็กที่เกิดในประเทศฮังการี โครเอเชีย มอนเตเนโกร บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา หรือ โคโซโว และมีใบรับรองการเกิดฉบับสมบูรณ์จากทางการท้องถิ่น แล้วเท่านั้น
      4.      การจดทะเบียนเกิดบุตรไม่เสียค่าธรรมเนียม
 
 หมายเหตุ: หากผู้ร้องเกิดก่อน 1 มีนาคม พ.ศ. 2535 (1992) ให้ดูรายละเอียดในหัวข้อ 3.4
 

* เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องในการออกหนังสือเดินทางให้แก่บุคคลสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 นั้น เมื่อบิดามารดาได้แจ้งเกิดและขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกให้แก่เด็กแล้ว จะต้องดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อให้เด็กมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานการขอหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติไทย ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะอนุโลมออกหนังสือเดินทางเฉพาะเล่มแรกเท่านั้นให้แก่เด็กที่เกิดในต่างประเทศและยังไม่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

* ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตหรืออำเภอนั้น บิดา มารดา ผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย  หรือผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีขึ้นไป) ซึ่งประสงค์ขอมีรายการบุคคลและหมายเลขประจำตัวประชาชนในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ อาจมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องยื่นคำร้องแทน  [ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ 96/2 (หน้า 74 ด้านล่างสุด) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/E/180/70.PDF

สามารถค้นข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่ http://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-population/13-service-handbook/population/29-population-add-name

2. แบบฟอร์มที่ต้องกรอก

      1.     แบบฟอร์มคำร้องขอทะเบียนคนเกิด (แบบฟอร์มที่12) จำนวน 1 ชุด

      2.     บันทึกสอบสวน (แบบฟอร์มที่ 2) จำนวน 1 ชุด 

       กรณีขอทำหนังสือเดินทางด้วย โปรดกรอกแบบฟอร์มคำร้องขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ 

      3.      คำร้องขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (แบบฟอร์มที่ 1) จำนวน 1 ชุด

3. หลักฐานประกอบ
    หากขอทำหนังสือเดินทางด้วย กรุณาเตรียมเอกสาร อย่างละ 2 ชุด

3.1 กรณีบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสแล้ว
      1.      รูปถ่ายสีของบุตร ขนาด 35mm x 45mm  จำนวน 1 ใบ
      2.      สำเนาสูติบัตรท้องถิ่น “ฉบับเต็ม” (Full Birth Certificate) จำนวน 1 ชุด
      3.      สำเนาทะเบียนสมรสของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด
      4.      สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด
      5.      สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาและ/หรือมารดาที่มีสัญชาติไทย จำนวน 1 ชุด

3.2 กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส
      1.      รูปถ่ายสีของบุตร ขนาด 35mm x 45mm  จำนวน 1 ใบ
      2.      สำเนาสูติบัตรท้องถิ่น “ฉบับเต็ม” (Full Birth Certificate) จำนวน 1 ชุด
      3.      สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด
      4.      สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาและ/หรือมารดา ที่มีสัญชาติไทย จำนวน 1 ชุด
      5.      มารดาจะต้องกรอกแบบฟอร์มบันทึกถ้อยคำ เพื่อยืนยันสถานะของบุตร
               ส่วนบิดาจะต้องกรอกแบบฟอร์มคำขอเพื่อแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอมให้บุตรใช้นามสกุลของตน หากบุตรต้องการใช้นามสกุลตามบิดา             
      6.      สำเนาใบปกครองบุตร (ป.ค. 14) จำนวน 1 ชุด (ในกรณีไม่สามารถติดต่อกับบิดาของบุตร)

* เด็กจะได้สัญชาติไทยตามมารดาชาวไทยเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่บิดาและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมารดาเป็นชาวต่างชาติ เด็กจะขอสัญชาติไทยได้เมื่อบิดาชาวไทยได้รับรองบุตรแล้วเท่านั้น *

3.3 กรณีบิดามารดาได้จดทะเบียนหย่าเเล้ว
      1.      รูปถ่ายสีของบุตร ขนาด 35mm x 45mm  จำนวน 1 ใบ
      2.      สำเนาสูติท้องถิ่น “ฉบับเต็ม” (Full Birth Certificate) จำนวน 1 ชุด
      3.      สำเนาใบหย่าของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด
      4.      สำเนาบันทึกการหย่าที่ระบุอำนาจการปกครองบุตร จำนวน 1 ชุด (กรณีจดทะเบียนหย่าในประเทศไทย)
      5.      สำเนาใบปกครองบุตร (ป.ค. 14) จำนวน 1 ชุด (กรณีจดทะเบียนหย่าในท้องถิ่นที่่ทานอาศัยอยู่)
      6.      สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด
      7.      สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาและ/หรือมารดาที่มีสัญชาติไทย จำนวน 1 ชุด
 
3.4  กรณีเด็กเกิดก่อน 1 มีนาคม พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)
      1.     กรอกแบบฟอร์มตามข้อ 2 และเตรียมเอกสารตามข้อ 3.1 หรือ 3.2 หรือ 3.3 หรือ 3.4 (แล้วแต่กรณี)
      2.     นำสูติบัตร “ฉบับเต็ม” (Full Birth Certificate)  ไปประทับตรารับรองจาก Department of Foreign Affairs ในประเทศของท่าน (แล้วแต่กรณี)
      3.     สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเก็บต้นฉบับสูติบัตรข้างต้นไว้เป็นหลักฐาน
      4.     บิดาและมารดาจะต้องมากรอกแบบฟอร์มบันทึกสอบปากคำ กรณีขอสัญชาติไทยย้อนหลังที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เท่านั้น 
 

***การมาติดต่อควรนำหลักฐานประจำตัวไทยตัวจริง มาให้พร้อมด้วย เช่น หนังสือเดินทางไทยบิดา มารดา บัตรประชาชนบิดา มารดา รวมถึงใบสูติบัตรของประเทศที่เด็กเกิดที่ระบุชื่อบิดา มารดาชัดเจน***

 


 

การจดทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า Marriage & Divorce

1. ข้อมูลทั่วไป

      1.    การจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะกระทำได้เฉพาะในกรณีการจดทะเบียนระหว่างบุคคลสัญชาติไทย หรือระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับต่างชาติเท่านั้น และถือเป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย

      2.    การขอจดทะเบียนฯ กรุณาติดต่อนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันทำการ และจะต้องส่งเอกสาร
             ประกอบให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเพื่อตรวจและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้อง

      3.    การจดทะเบียนสมรส และทะเบียนหย่า ไม่เสียค่าธรรมเนียม 

2. หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนสมรส

      1.    คำร้องขอจดทะเบียนสมรส และ บันทึกถ้อยคำการจดทะเบียนสมรส ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่สมรสแล้ว

      2.    หนังสือเดินทางที่ไม่หมดอายุของคู่สมรส

      3.    บัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส

      4.    ในกรณีที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนและหย่าแล้ว ต้องมีสำเนาทะเบียนหย่ามาแสดงด้วย

      5.    ในวันจดทะเบียนสมรส กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน หรือ
             สำเนาทะเบียนบ้านของพยาน 

      6.    ใบรับรองโสด ของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย  (สำหรับคนไทย สามารถติดต่อขอรับใบรับรองความเป็นโสดได้ที่ที่ว่าการอำเภอฯ หรือ สำนักงานเขตฯ ที่ประเทศไทย) เพื่อใช้ในการจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
 

3. หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนหย่า

      1.     คำร้องขอจดทะเบียนหย่า ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่หย่าแล้ว

      2.     ต้นฉบับทะเบียนสมรสของทั้งสองฝ่าย

      3.     หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุของทั้งสองฝ่าย

      4.     สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่าย

      5.     ในวันจดทะเบียนหย่า กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน หรือ
              สำเนาทะเบียนบ้านของพยาน

 


 

การขอมรณบัตร Death Certificate

ญาติของคนไทยที่เสียชีวิตในฮังการี โครเอเชีย มอนเตเนโกร บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา หรือ โคโซโว สามารถติดต่อขอมรณบัตรไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 9.00 - 12.00 น. โดยต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า


หลักฐานประกอบ

1.    คำร้องขอมรณบัตร
2.    มรณบัตรที่ออกโดยทางการท้องถิ่นของประเทศที่กล่าวข้างต้นและรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้นๆแล้ว

3.    ใบรับรองการฌาปณกิจศพ หรือ การจัดการศพของผู้เสียชีวิต

4.    หนังสือเดินทางของผู้แจ้งขอมรณบัตรและของผู้เสียชีวิต

5.    สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้งและของผู้เสียชีวิต


หมายเหตุ:  การขอมรณบัตรไม่เสียค่าธรรมเนียม