สารคดี เรือพระราชพิธี

สารคดี เรือพระราชพิธี

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ต.ค. 2567

| 12 view

สารคดี เรือพระราชพิธี

 

ตอนที่ ๑ ประวัติความเป็นมาของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ตามโบราณราชประเพณี การเสด็จพระราชดําเนินของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช ทั้งทางบกและทางนํ้า มีระเบียบแบบแผนการจัดรูปแบบและการเตรียมกระบวนแวดล้อม ด้วยไพรพล ขุนนาง ข้าราชบริพาร เพื่อถวายการอารักขา และแสดงพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจน พระบุญญาบารมี

การเสด็จพระราชดําเนินทางนํ้า เรียกว่า "พยุหยาตราทางชลมารค" เป็นการจัดริ้วกระบวนเรือพระที่นั่งและเรือ ประกอบอื่น ๆ เพื่อเสด็จพระราชดําเนินไปทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจเนื่องในวาระโอกาสต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการพระราชพิธีของบ้านเมืองและการส่วนพระองค์

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

ตอนที่ ๒ การจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ความยิ่งใหญ่อลังการของริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏหลักฐานเป็นประจักษ์พยานในหนังสือสมุดไทย เรื่อง “ริ้วกระบวนเพ็ชร์พวงแห่เสด็จฯ พระพุทธบาท จุลศักราช ๑๐๓๘” ซึ่งชำระขึ้นใหม่ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ หนังสือสมุดไทย เรื่อง “ตำราริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราเพ็ชร์พวงทางชลมารคครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” สันนิษฐานว่าได้คัดลอกมาจากจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙

ต่อมา เมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อให้กระบวนเรือพระราชพิธีมีความงดงามและสมพระเกียรติยิ่งขึ้น โดยกำหนดรูปกระบวนลักษณะอย่าง “ดาวล้อมเดือน” โดยให้เรือพระที่นั่งเป็นเดือน เรืออื่นในกระบวนหน้า กระบวนแซง และกระบวนหลังเป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน นับแต่นั้นรูปกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคลักษณะนี้จึงได้กำหนดใช้เป็นแบบแผนการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในการพระราชพิธีต่าง ๆ สืบต่อมา

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

ตอนที่ ๓ เรือพระที่นั่ง

“เรือพระที่นั่ง” นับเป็นเรือที่มีฐานานุศักดิ์สูงสุดในริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ด้วยเป็นพระราชยานที่ประทับขององค์พระมหากษัตริยาธิราช ผู้ทรงดำรงพระราชสถานะสมมติเทพ ตามคติความเชื่อทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ เรือพระที่นั่งจึงรังสรรค์ขึ้นให้มีรูปลักษณะสะท้อนภาพเทพพาหนะ เช่น เรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งครุทธภาหณะ เรือนาคเหรา เรือนาควาสุกรี บ้างก็สะท้อนผ่านชื่อเรือพระที่นั่งที่ฉายให้เห็นภาพที่ประทับอันเป็นทิพยวิมานขององค์เทวราช เช่น เรือพระที่นั่งกนกรัตนวิมานมหานาวา เรือพระที่นั่งนพรัตนพิมาน

นับแต่สถาปนากรุงเทพพระมหานคร สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ล้วนทรงตระหนักถึงความสำคัญของเรือพระราชพิธีอันเป็นสัญลักษณ์ของจารีตประเพณีแห่งราชอาณาจักร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและบูรณะเรือหลวงหรือเรือพระราชพิธีมาโดยตลอด ปรากฏนามเรือพระที่นั่งทั้งที่เหมือนและแตกต่างกับที่เคยมีมาแต่เก่าก่อน เรือพระที่นั่งเหล่านั้นได้ใช้เป็นพระราชยานที่ประทับในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุในการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี

รับชมวิดีโอ link 

 

 

ตอนที่ ๔ เรือเหล่าแสนยากร

“เรือเหล่าแสนยากร” เป็นเรือของเหล่าเสนาราชบริพาร ที่แวดล้อมเรือพระที่นั่งในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อันแสดงถึงแสนยานุภาพเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชแต่ละลำมีรูปแบบทางศิลปกรรมและหน้าที่แตกต่างกันไป

เมื่อจัดเรือทั้งปวงเข้าริ้วขบวนตามแบบแผนการพยุหยาตราทางชลมารคคราใด ยิ่งเสริมส่งให้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินครานั้น บังเกิดความเกรียงไกรประหนึ่งการยาตราทัพไปในการพระราชสงคราม สมด้วยนามเรียกขานหมู่เรือเหล่านี้ว่า “เรือเหล่าแสนยากร” โดยแท้

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

ตอนที่  กำลังพลในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เครื่องอาภรณ์ภัณฑ์อันงดงามและความพร้อมเพรียงของเหล่ากำลังพลตามแบบโบราณราชประเพณี นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่กำลังยาตราไปในลำน้ำยิ่งสง่างามสมพระเกียรติความยิ่งใหญ่ของริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อันกอปรด้วยความงดงามของนาวาสถาปัตยกรรม

เครื่องอาภรณ์ภัณฑ์ และเหล่ากำลังพลที่ยาตราขบวนโดยพร้อมเพรียงนั้น ย่อมแสดงถึงแสนยานุภาพของเหล่าทแกล้วทหาร ตลอดจนพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช ผู้ทรงเป็น “จอมทัพไทย” ให้ปรากฏสืบไป

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

ตอนที่ ๖ การเห่เรือ

การให้จังหวะแก่ฝีพายให้พายตามจังหวะทำนอง เพื่อให้เรือแล่นไปอย่างเป็นระเบียบสวยงามและพร้อมเพรียงกันที่เรียกว่า “การเห่เรือ” เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คำประพันธ์สำหรับใช้เป็นแบบอย่างของบทเห่เรือเก่าที่สุดที่เหลือเป็นหลักฐานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ กาพย์เห่เรือ บทพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือที่ออกนามกันทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานการนำบทเห่เรือ ทั้งที่มีมาแต่เดิมและประพันธ์ขึ้นใหม่มาใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในการพระราชพิธีต่าง ๆ สืบมา

การเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่กอปรด้วยศิลปะในท่วงท่าการพายเรืออย่างพร้อมเพรียงสง่างาม ตลอดจนศิลปะในการประพันธ์ การร้องบทเห่ที่มีถ้อยคำและท่วงทำนองอันไพเราะก้องกังวาน จึงสะท้อนภาพวัฒนธรรมอันงดงามที่สืบเนื่องมาจากอดีตถึงปัจจุบันสมัย นับเป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของแผ่นดิน

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

 

ตอนที่ ๗ การรื้อฟื้นราชประเพณีเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นเวลากว่าสองทศวรรษ ที่มิได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นเหตุให้เรือพระราชพิธีต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อีกทั้งในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เรือพระราชพิธีเหล่านั้นได้รับความเสียหายจากระเบิดเป็นจำนวนมาก

หากแต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเรือพระราชพิธีอันเป็นมรดกของชาติ อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการเก็บรักษาเรือพระราชพิธี ส่งผลให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเอาใจใส่ทะนุบำรุงเรือพระราชพิธีให้กลับมางดงามดังเดิม

ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคทั้งสิ้น ๑๗ ครั้ง จำแนกได้เป็นสองลักษณะ คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดขึ้นคราวเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีต่าง ๆ และขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดขึ้นเนื่องกับการพระราชพิธี หรือวาระสำคัญ

การรื้อฟื้นธรรมเนียมการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังผลให้มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งงานประณีตศิลป์ วรรณศิลป์ และดุริยางคศิลป์ที่หลอมรวมอยู่ในโบราณราชประเพณีนี้ได้ดำรงอยู่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในบรรพชนของเราที่ได้กระทำมาแต่ปางก่อน ทั้งยังเป็นเกียรติภูมิปรากฏแก่สายตานานาอารยประเทศ

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

ตอนที่ ๘ การอนุรักษ์เรือพระราชพิธี

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์เรือพระราชพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อให้โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของชาติ ดำรงอยู่สืบไป จึงยังผลให้เรือพระราชพิธีทั้งปวงได้รับการบูรณะซ่อมแซมสืบมา กองทัพเรือและกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสำคัญโดยเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในการพระราชพิธีคราใด หน่วยงานทั้งสองได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานถวายอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระประมุขของชาติ

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สืบเนื่องถึงรัชกาลปัจจุบัน ยังผลให้เรือพระราชพิธีทั้งปวงได้รับการดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง และกลับฟื้นคืน เป็นศรีสง่าแห่งบ้านเมือง ที่สำคัญผลของการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมเรือพระราชพิธี ตลอดจนเครื่องประกอบและอาภรณ์ภัณฑ์นั้น ยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาเชิงช่างไทยหลากหลายแขนงที่สั่งสมสืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษให้ดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

 

ตอนที่ ๙ การเก็บรักษาเรือพระราชพิธี

เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนับเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่แสดงถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรมอันสูงส่งสืบเนื่องมาช้านาน ด้วยความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเรือพระราชพิธีนี้เอง จึงมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ณ ริมคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรีเพื่อเป็นสถานที่ในการดูแลรักษาและนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยการจัดแสดงให้ความรู้และสร้างความภาคภูมิใจแก่ประชาชนตามพระราชกระแสรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธาน ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ ผลงานศิลปะลักษณะต่าง ๆ ที่ทำด้วยฝีมืออย่างประณีต

ตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ ปี นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๗ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่เรือพระราชพิธี ทั้งด้านอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้เข้าชม โดยมีเป้าหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องที่มีมาตรฐาน รองรับการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ และสามารถพัฒนาต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

 

ตอนที่ ๑๐ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พุทธศักราช ๒๕๖๗ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๗

การเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ณ วัดอรุณราชวราราม นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า จะได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและถวายพระพรชัยมงคล / ทั้งจะได้ร่วมชื่นชมความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โบราณราชประเพณีอันกอปรด้วยศาสตร์และศิลป์ ที่จะได้ปรากฏแก่สายตาอนุชนไทย และคนต่างด้าวที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทย ได้เห็นถึงความอลังการ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

รับชมวิดีโอ link / link / link

 

#พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา๖รอบ
#ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมศิลปากร

 

 

 

 

*  *  *  *  *

 

 

วิดีโอประกอบ

สารคดี เรือพระราชพิธี ตอนที่ ๑ ประวัติความเป็นมาของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
สารคดี เรือพระราชพิธี ตอนที่ ๒ การจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
สารคดี เรือพระราชพิธี ตอนที่ ๓ เรือพระที่นั่ง
สารคดี เรือพระราชพิธี ตอนที่ ๔ เรือเหล่าแสนยากร