วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ม.ค. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) จึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจรตั้งแต่การปรับปรุงกฎหมาย การวางระบบติดตามเรือประมง การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดสายการผลิต รวมทั้งการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานภาคประมงให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และการปราบปรามการค้ามนุษย์
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
1. การแก้ไขกฎหมาย
- รัฐบาลได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ให้มีมาตรการติดตามตรวจสอบเรือประมงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีแผนบริหารจัดการการประมงที่ได้มาตรฐานสากล พระราชบัญญัติดังกล่าวเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558
- ในเวลาต่อมา รัฐบาลต้องการปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมมาตรการต่างๆ มากยิ่งขึ้น เช่น การตรวจสอบเรือประมงไทยที่ทำการประมงทั้งในน่านน้ำไทยและต่างประเทศ และการบริหารจัดการการประมงให้มีความยั่งยืน จึงได้ออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 และเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ทำให้พระราชกำหนดดังกล่าวมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติแต่ยังคงชื่อพระราชกำหนดเช่นเดิม
- ได้มีการจัดทำกฎหมายลำดับรองเร่งด่วน 52 ฉบับ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีประสิทธิภาพ เช่น ประกาศกรมประมงเรื่องการห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลเป็นเวลา 6 เดือน
2. การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำความผิดในภาคประมง
- ณ เดือนมกราคม 2559 มีการตรวจแรงงานในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีอยู่ 145 แห่งไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80 พบการใช้แรงงานผิดกฎหมาย 63 แห่ง ตรวจแรงงานทั้งหมด 28,343 คน อธิบดีกรมประมงได้ใช้อำนาจทางปกครองตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 สั่งหยุดกิจการของโรงงาน 5 แห่ง เป็นเวลา 10 วัน และโรงงาน 1 แห่งถูกปิดถาวรเนื่องจากไม่มีใบอนุญาต
- ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 30 ธันวาคม 2558 มีการตรวจเรือประมงนอกน่านน้ำและพบความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 6 คดี ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องศาลแล้ว
3. การติดตามเรือประมงและการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ
- ได้มีการจัดทำระบบ VMS ที่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมการทำการประมงของเรือประมงที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับการออกใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ
- ณ เดือนมกราคม 2559 มีเรือประมงขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปที่ติดตั้ง VMS แล้ว จำนน 5,233 ลำ
- มีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าประมงโดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมงและกรมศุลกากรในการตรวจสอบสัตว์น้ำนำเข้า อาทิ จัดทำ Mobile Application “Anti IUU Fishing” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรและกรมประมงใช้ในการสืบค้นข้อมูลเรือ ใบอนุญาต และข้อมูลอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและป้องกันการลักลอบขนถ่ายสัตว์น้ำผิดกฎหมายโดยเฉพาะปลาทูน่า
- มีการพัฒนาระบบทะเบียนเรือและใบอนุญาตทำการประมงให้เป็นแบบ e-License ที่เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกัน
4. แรงงานภาคประมง
- มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชาในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อปรับสถานะให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ณ วันที่ 4 มกราคม 2559 มีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนแล้ว 12,920 คนในกิจการประมงทะเล และ 23,123 คนในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ
หมายเหตุ สถานะ ณ เดือนมกราคม 2559