คนไทยในต่างประเทศ

คนไทยในต่างประเทศ

34,399 view

ฮังการี
Hungary

แผนที่

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง บริเวณที่ราบคาร์เปเทียนในยุโรปกลาง ไม่มีทางออกทะเล
ทิศเหนือ ติดกับสโลววะเกีย และยูเครน
ทิศใต้ ติดกับโครเอเชีย เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร
ทิศตะวันออก ติดกับโรมาเนีย
ทิศตะวันตก ติดกับออสเตรีย และสโลวีเนีย
พื้นที่ 93,030 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 18 ของไทย)
เมืองหลวง กรุงบูดาเปสต์
ประชากร 9.9 ล้านคน (ปี 2553) ประกอบด้วย
ชาวฮังกาเรียน (92.3%) โรมา (1.9%) และอื่นๆ (5.8%)
ภูมิอากาศ มีฤดูหนาวที่ชื้น ฤดูร้อนที่อบอุ่น
อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในฤดูหนาว 0 ถึง -15 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน 27-35 องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ฮังกาเรียน 98% อื่นๆ 2%
ศาสนา โรมันคาทอลิก 51.9% คาลวินิสต์ 15.9% ลูเธอแรนส์ 3% และกรีกคาทอลิก 2.6%

การเมืองการปกครอง

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายยาโนส อาเดร์ (János Áder) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายวิกตอร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) ดำรงตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2553 และได้เป็นต่ออีกหนึ่งสมัยหลังชนะการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2557

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ นายเปเตอร์ ซิยาร์โต (Peter Szijjarto)

ระบอบการปกครอง  ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ

เขตการปกครอง แบ่งเป็น 19 เทศมณฑล (county)

วันชาติ  20 สิงหาคมของทุกปี

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 24 ตุลาคม 2516

การเมืองฮังการี

ตั้งแต่เปลี่ยนจากสังคมนิยมเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2532 ฮังการีมีรัฐบาลจาก 2 กลุ่มแนวคิดการเมืองที่สลับกับบริหารประเทศ คือ พรรคสังคมนิยม (ซ้าย) กับ Fidesz (กลางขวา) รัฐบาลปัจจุบันซึ่งบริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2553 คือพรรค Fidesz โดยมีพรรค Christian Democrat เป็นพรรคร่วมรัฐบาล การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะจัดในปี 2561

นโยบายของรัฐบาลฮังการีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Viktor Orban ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 มีสาระสำคัญ ดังนี้

·      รัฐบาลฮังการีจะเป็นรัฐบาลที่ทำงานเพื่อประชาชนและยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก รวมทั้งจะต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่งทุกประเภท

·      ด้านการเมืองและความมั่นคง  ปกป้องรัฐธรรมนูญและทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยในชีวิตประจำวันของประชาชน ร่วมมือกับต่างประเทศในการรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ และทำให้นานาประเทศให้ความสำคัญแก่ฮังการีในทางการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น

·      ด้านเศรษฐกิจ  จะส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่เน้นการทำงาน (work-based economy) และการสร้างตำแหน่งงาน รักษาทรัพย์สินของชาติให้เป็นของฮังการีโดยเฉพาะที่ดินทางการเกษตร

·      ด้านสังคม  เพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและส่งเสริมให้ฮังการีมีประชากรเพิ่มขึ้น

ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ

แนวคิดของฮังการีในการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ คือ National Development and Territorial Development Concept (NDTDC) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อปี 2557 และจะใช้จนถึงปี 2573 (ค.ศ.2030) เพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและเพื่อบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายระยะยาวให้ฮังการีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและภูมิปัญญาของยุโรปกลางและตะวันออกภายในปี 2573

เอกสาร NDTDC เห็นว่าจุดแข็งของฮังการีคือการมีที่ตั้งอยู่ใจกลางยุโรป ทำให้สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มต่างๆ ในยุโรปที่มีชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมต่างกัน ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศคือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งได้เสียโอกาสการพัฒนาศักยภาพไปภายใต้ระบอบสังคมนิยม ส่วนจุดอ่อน เช่น งานวิจัยและพัฒนาที่ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐไม่เพียงพอ การลดลงของประชากรและการเพิ่มขึ้นของคนวัยเกษียณ สภาพภูมิศาสตร์ที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และความแตกต่างของระดับการพัฒนาของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ เป็นต้น

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายพัฒนาประเทศ รัฐสภาได้กำหนดวัตถุประสงค์ของ NDTDC ไว้ 4 ประการ ได้แก่

1. การสร้างงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

2. การเพิ่มจำนวนประชากรและสร้างสังคมที่ประชากรมีสุขภาพแข็งแรง

3. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อม

4. การพัฒนาภูมิภาคให้มั่นคงยั่งยืนตามศักยภาพ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ฮังการีมีนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ คือ

1. ยกระดับความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตก กลุ่ม Visegrad 4 และประเทศเพื่อนบ้านในที่ราบคาร์เปเทียน โดยจะส่งเสริมการรวมกลุ่มของยุโรปกลางและตะวันออกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยเสนอให้ขยายสมาชิกกลุ่ม Visegrad 4 ให้รวมโรมาเนียและบัลแกเรีย และใช้ประโยชน์จากการมีคนเชื้อสายฮังการีจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของภูมิภาค

2. ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศบอลข่าน รัสเซีย ยูเครน และประเทศ CIS เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าของฮังการี

3. จะให้ความสำคัญแก่ประเทศนอกยุโรปที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ เพื่อดึงดูดการลงทุนสู่ฮังการี โดยได้มีนโยบาย Eastern Opening และ Southern Opening

4. รัฐบาลต้องการให้นโยบายต่างประเทศตอบสนองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เป้าหมายของรัฐบาลคือทำให้ตลาดนอกอียูมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของตลาดส่งออกทั้งหมดภายในปี 2561 โดยพยายามส่งเสริมการส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นด้วย รัฐบาลจึงได้รวมภารกิจการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศ รวมทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของฮังการีมารวมไว้ด้วยกันที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้า

ประเทศที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อฮังการี คือ ยุโรปกลาง และรัสเซีย เยอรมนี ตุรกี โดยนายกรัฐมนตรี Orban กล่าวว่าสามประเทศหลังมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของฮังการีมานับพันปี การเยือนฮังการีของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประธานาธิบดีรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีตุรกีเมื่อต้นปี 2558 เป็นการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว

ในช่วงปี 2557-2559 ฮังการีมีท่าทีต่างจากกระแสหลักในอียูในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ (1) สถานการณ์ในยูเครน ซึ่งฮังการีไม่ต้องการคว่ำบาตรรัสเซีย (2) ปัญหาผู้ลี้ภัยและแสวงหาที่พักพิงจากตะวันออกกลาง ซึ่งฮังการีคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ฮังการีเห็นว่านโยบายต่างประเทศฮังการีไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายของชาติมหาอำนาจ ประเด็นสำคัญคือ ต้องทำให้ประเทศที่มีความสำคัญต่อฮังการีเห็นว่าความก้าวหน้าของฮังการีเป็นผลประโยชน์ร่วมแม้ว่าฮังการีจะมีจุดยืนที่ต่างในบางเรื่อง

ฮังการีกับ Visegrad 4   

- ฮังการีเป็นสมาชิกกลุ่ม Visegrad 4 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของฮังการี โปแลนด์ เช็ก สโลวะเกีย ในช่วงเตรียมพร้อมเข้าเป็นสมาชิกอียู แต่หลังจากได้เป็นสมาชิกอียูในปี 2547 (ค.ศ. 2004) แล้ว ความร่วมมือยังมีต่อไป โดยทั้ง 4 ประเทศมักจะประชุมหารือเพื่อกำหนดท่าทีร่วมกันในประเด็นต่างๆ เช่น การพัฒนาความเชื่อมโยง ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง เป็นต้น

- Visegrad 4 เป็นกลไกความร่วมมือแต่ไม่เป็นองค์การระหว่างประเทศ สมาชิก V4 ทั้ง 4 ประเทศ มีพื้นที่รวม 533,615 ตารางกิโลเมตรหรือใหญ่กว่าประเทศไทยเล็กน้อย มีประชากรประมาณ 64.3 ล้านคน มี GDP 931 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของยุโรปและอันดับ 12 ของโลก

 - ศักยภาพของกลุ่ม V4 คือการเป็นประเทศรายได้สูงและเป็นสมาชิก EU จึงเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ รวมทั้งยังมีแรงงานที่มีทักษะแต่มีค่าแรงต่ำกว่าประเทศยุโรปตะวันตก มีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ดี กลุ่ม V4 ได้ตกลงที่จะพัฒนา North-South Transport Corridor ซึ่งจะทำให้มีถนนและทางรถไฟที่ได้มาตรฐานสูงเชื่อมระหว่างทะเลบอลติคกับทะเลเอเดรียติค นอกจากนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 2014-2020 EU ได้เพิ่มเงินทุนจาก EU Fund จำนวน 135,000 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและระบบสาธารณูปโภคของ V4 โดยเน้นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เศรษฐกิจการค้า

หน่วยเงินตรา โฟรินท์ (Forint)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 25,068.9 ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลธนาคารโลก ปี 2558)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.9 (2558)
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบ
สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์อาหาร วัตถุดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า

สถานการณ์เศรษฐกิจฮังการี

- เศรษฐกิจฮังการีในปี 2559 มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากประสบปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2551 ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2558 GDP ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.9 โดยไตรมาสที่สามขยายตัวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 2.3 เนื่องจากฤดูร้อนที่แห้งแล้งทำให้ผลิตผลการเกษตรตกต่ำ อย่างไรก็ดี ฮังการีไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮังการี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์

- ตัวชี้วัดของเศรษฐกิจฮังการีที่บ่งชี้แนวโน้มเชิงบวก ได้แก่ (1) อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน 2558 ปริมาณการค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยเป็นการขยายตัวถึง 28 เดือนติดต่อกัน ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอียูและยูโรโซน (2) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2558 ฮังการีได้ดุลการค้าต่างประเทศ 6.76 พันล้านยูโร ซึ่งสูงกว่ามูลค่าเกินดุลการค้าของปี 2557 โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.4 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร ยา พลาสติก และผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยสินค้าร้อยละ 80 ส่งออกไปอียู และร้อยละ 20 ส่งออกไปภูมิภาคอื่น ในปี 2558 ฮังการีได้ดุลการค้าประมาณ 7.5 พันล้านยูโร (3) อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0 (4) อัตราว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 11.6 ในปี 2553 เป็นต่ำกว่าร้อยละ 7 

- ฮังการีมีความกังวลต่อจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มลดลงแต่คนวัยเกษียณจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มในยุโรป อีกทั้งชาวฮังการีมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศอื่นใน EU กล่าวคือ ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 71.45 ปี และผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 78.38 ปี อันเป็นผลจากปัญหาสุขภาพ รัฐบาลจึงต้องการส่งเสริมให้ครอบครัวฮังการีมีบุตรเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนคนวัยทำงานในอนาคต เช่น ให้เงินอุดหนุนแก่ครอบครัวที่มีลูก กำหนดให้ลูกจ้างสามารถลาคลอดและเลี้ยงดูลูกได้ถึง 3 ปี รวมทั้งมีเป้าหมายให้ฮังการีเป็นสังคมของประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรง