วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มี.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ต.ค. 2566
ด้านการทูต
ไทยและฮังการีมีความสัมพันธ์อันดีที่ยาวนานกว่า 152 ปี โดยเริ่มตั้งแต่การลงนามในหนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2412 และต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี 2440 โดยได้เสด็จฯ เยือนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีอีกด้วย ไทยและฮังการีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2516 โดยฮังการีจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อปี 2521 (ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) และไทยจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ เมื่อปี 2532 (มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐโครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และสาธารณรัฐคอซอวอ)
ปัจจุบัน นายชานโดร์ ชีโปช (Mr. Sándor Sipos) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย และนายภควัต ตันสกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562
รายชื่อเอกอัครราชทูตไทยประจำฮังการี
ฮังการี
Hungary
ข้อมูลทั่วไป |
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพื้นที่ติดกับทะเล ทิศเหนือ
ติดกับสาธารณรัฐสโลวักและยูเครน ทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐโครเอเชียและสาธารณรัฐเซอร์เบีย ทิศตะวันออกติดกับโรมาเนีย ทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐออสเตรียและสาธารณรัฐสโลวีเนีย
พื้นที่ ๙๓,๐๓๐ ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงบูดาเปสต์ (Budapest)
ประชากร ๙.๗๗ ล้านคน (ปี ๒๕๖๕)
ภูมิอากาศ มี ๔ ฤดู คือ ฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ฤดูใบไม้ผลิ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูร้อนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม และฤดูใบไม้ร่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในฤดูหนาว ๐ ถึงต่ำสุด -๑๕ องศาเซลเซียส ฤดูร้อน ๒๗ - ๓๕ องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ฮังการี (Hungarian)
ศาสนา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ ๖๗ นิกายคาลวินิสต์ ร้อยละ ๒๐ นิกายลูเธอแรนส์ ร้อยละ ๕ และนิกายกรีกคาทอลิก ร้อยละ ๒.๖ (สำรวจล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๔)
หน่วยเงินตรา โฟรินท์ (Forint) อัตราแลกเปลี่ยน ๑ โฟรินท์ เท่ากับ ๐.๑๐๐ บาท (สถานะวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๑๘๔.๖๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๖๕)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๑๘,๙๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๖๕)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๕.๗ (ปี ๒๕๖๕)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๓๘๖ ที่นั่ง มีประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นประมุข โดยมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นางคาตาลิน โนวาก (Katalin Novák) ซึ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ และเข้าพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยมาจากการเลือกตั้งทั่วไป มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายวิกตอร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สี่ติดต่อกัน
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ประเทศไทยและฮังการีมีความสัมพันธ์ยาวนาน ๑๕๓ ปี นับตั้งแต่การลงนามในหนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๑๒ และต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี ๒๔๔๐ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีด้วย
ประเทศไทยและฮังการีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งฮังการีได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๒๑ (มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ปัจจุบัน ฝ่ายฮังการีได้แต่งตั้งนายชานโดร์ ชีโปช (Sándor Sipos) ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งฮังการีประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพมหานคร สืบแทน นายซิลเวสเตอร์ บุช (Szilveszter Bus) ซึ่งครบวาระประจำการเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ทั้งนี้ นายชานโดร์ ชีโปช ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ขณะที่ประเทศไทยได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ เมื่อปี ๒๕๓๒ (มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐโครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และสาธารณรัฐคอซอวอ) ปัจจุบัน นายนพคุณ ลุยจันทร์ ดำรงตำแหน่งอุปทูตฯ รักษาการแทนเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำฮังการี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรณีรัฐบาลฮังการีเสนอขอเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ฮังการี ณ จังหวัดเชียงใหม่ และแต่งตั้งให้นายวโรดม ปิฏกานนท์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฮังการี ณ จังหวัดเชียงใหม่ และกรณีขอเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ฮังการี ณ จังหวัดภูเก็ต และแต่งตั้งให้นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฮังการี ณ จังหวัดภูเก็ต
เมื่อปี ๒๕๕๖ ประเทศไทยและฮังการีได้ฉลองโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนฮังการี ระหว่างวันที่ ๓ - ๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ เพื่อร่วมงานฉลองในโอกาสดังกล่าวด้วย
ในปี ๒๕๖๖ ประเทศไทยและฮังการีได้ฉลองโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดการแข่งขันกีฬาเทคบอล กระชับมิตร สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้จัดงานเทศกาลไทย และการสัมมนาจับคู่ธุรกิจ และสถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทยจะจัดคอนเสิร์ตเปียโนและไวโอลิน รวมทั้งจัดทำดวงตราไปรษณียการและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก
๑.๑ การเมือง
ในช่วงที่สหภาพยุโรปยังไม่ได้ปรับข้อมติเกี่ยวกับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ฮังการีแสดงท่าทีเป็นมิตรและไม่ได้แสดงท่าทีเชิงลบต่อสถานการณ์การเมืองไทย รวมทั้งยังแสดงความสนใจที่จะขยายความร่วมมือกับไทยเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้ข้อมติของสหภาพยุโรปดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โดยที่ฮังการียังต้องพึ่งสหภาพยุโรปอยู่มาก โดยเฉพาะในด้านงบประมาณ ดังนั้น การแสดงท่าทีของฮังการีในการสนับสนุนประเทศไทยในกรอบสหภาพยุโรปจึงเป็นไปอย่างจำกัดและระมัดระวัง
ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีการเยือนและการพบหารืออย่างสม่ำเสมอ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือทวิภาคีกับนายเปเตอร์ ซิยาร์โท (Péter Szijjártó) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี ถึง ๙ ครั้ง ระหว่างปี
๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ (๑) การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) ครั้งที่ ๑๑ ที่กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ (๒) การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยสามัญ (United Nations General Assembly: UNGA) ครั้งที่ ๗๑ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙ (๓) การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Ministerial Meeting: AEMM) ครั้งที่ ๒๑ ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ (๔) ระหว่างที่นายเปเตอร์ ซิยาร์โท แวะผ่านประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป (ASEM Foreign Ministers’ Meeting: ASEM FMM) ครั้งที่ ๑๓ ที่กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ (๕) การประชุม ASEM ครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม (๖) การประชุมระดับรัฐมนตรี AEMM ครั้งที่ ๒๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒ (๗) การประชุม ASEM FMM ครั้งที่ ๑๔ ที่กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ (๘) การประชุม UNGA ครั้งที่ ๗๖ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ และ (๙) การเดินทางเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๕ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการีได้มีกำหนดเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและมีกำหนดเข้าพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๓ - ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ แต่กำหนดการต้องยกเลิกออกไปเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการีได้ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเปเตอร์ ซิยาร์โท ได้ร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในระหว่างการประชุม UNGA ครั้งที่ ๗๓ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทานเดินทางเยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายเปเตอร์ ซิยาร์โท เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้เยี่ยมชมโรงงาน Central Budapest Wastewater Treatment Plant ที่เป็นโรงบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลางด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยและฮังการีมีกลไกการหารือทวิภาคี ได้แก่ (๑) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี (Joint Commission on Economic Cooperation - JCEC) ระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจัดการประชุมแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๔๗ (ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ) ครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๕๘ (ฮังการีเป็นเจ้าภาพ) และครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๖๕ (ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ) และ (๒) การประชุมหารือทวิภาคี (Political Consultation) ไทย-ฮังการี ระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมมาแล้ว ๔ ครั้ง โดยครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๗ (ฮังการีเป็นเจ้าภาพ) ครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๕๙ (ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ) ครั้งที่ ๓ เมื่อปี ๒๕๖๑ (ฮังการีเป็นเจ้าภาพ) และครั้งที่ ๔ เมื่อปี ๒๕๖๖ (ไทยเป็นเจ้าภาพ)
๑.๒ การค้า
ในปี ๒๕๖๕ การค้ารวมของประเทศทั้งสองมีมูลค่า ๗๔๕.๔๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้า ๓๒๓.๐๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออก ๕๓๔.๒๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า ๒๑๑.๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกของประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า วงจรพิมพ์ และก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าจากฮังการีที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์
๑.๓ การลงทุน
๑.๓ การลงทุน
๑.๓.๑ การลงทุนของฮังการีในประเทศไทย
จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากฮังการีที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๕ โครงการ จาก ๓ บริษัท รวมมูลค่า ๑,๑๙๓ ล้านบาท (ประมาณ ๓๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้แก่ (๑) บริษัท Bangkok Solar จำกัด ดำเนินธุรกิจแผงเซลล์แสงอาทิตย์ มูลค่า ๔๐๐ ล้านบาท (ประมาณ ๑๑.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เริ่มดำเนินการในปี ๒๕๔๙ อย่างไรก็ดี ผู้ถือหุ้นฝ่ายฮังการีของบริษัทฯ ได้ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ฝ่ายไทยแล้ว (๒) บริษัท CsenkiI จำกัด ดำเนินธุรกิจประเภทสวนน้ำที่จังหวัดภูเก็ต มูลค่า ๖๙๐ ล้านบาท (ประมาณ ๒๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี ๒๕๕๓ (๓) และ (๔) บริษัท Amada Cable & Wire Harness (Thailand) ผลิตสายไฟฟ้า จำนวน ๒ โครงการ รวมมูลค่า ๑๐๓ ล้านบาท (ประมาณ ๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อปี ๒๕๕๔ และ (๕) การลงทุนผลิตผัก ผลไม้ และน้ำผลไม้บรรจุกล่อง (tropical fruit wine) มูลค่า ๙ ล้านบาท (ประมาณ ๐.๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อปี ๒๕๖๒
นอกเหนือจากสถิติของ BOI เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๓ บริษัท MOL รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของฮังการี ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมลงทุนกับบริษัท ทิสเซิ่นครุป (ThyssenKrupp) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในประเทศไทย ด้านเทคโนโลยีเพื่อผลิตและส่งออกชิ้นส่วน/อุปกรณ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในฮังการี ปัจจุบันโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มูลค่าการลงทุนประมาณ ๓๓,๓๒๔.๔๕ ล้านบาท (๑,๐๒๒.๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
๑.๓.๒ การลงทุนของประเทศไทยในฮังการี
บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่ประสบปัญหาล้มละลายที่เมือง Esztergom และจัดตั้งบริษัท Thai President Foods (Hungary) เมื่อปี ๒๕๕๖ ทุนจดทะเบียน ๒,๓๕๐ ล้านโฟรินท์ (ประมาณ ๓๐๕.๕ ล้านบาท) ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่าและ Thai Chef เพื่อจำหน่ายในฮังการีและภูมิภาคยุโรปกลาง
นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ เครือ Minor Hotel Group (MHG) ของประเทศไทยได้เข้าซื้อกิจการโรงแรม New York Palace Hotel ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงบูดาเปสต์ และเปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็น Anantara New York Palace Hotel
๑.๔ การท่องเที่ยว
ในปี ๒๕๖๕ มีนักท่องเที่ยวชาวฮังการีเดินทางมาประเทศไทย จำนวน ๑๐,๗๓๖ คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปฮังการีปีละประมาณ ๗,๐๐๐ คน
ชุมชนไทยในฮังการีมีจำนวนประมาณ ๑,๙๐๐ คน (สถานะเดือนมกราคม ๒๕๖๖) และมีวัดไทยในฮังการี ๑ แห่ง คือ วัดไทยรัตนประทีป ซึ่งจัดตั้งในรูปแบบสมาคมตามกฎหมายของฮังการี เมื่อปี ๒๕๕๗ และมีที่ตั้งถาวรเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙
๑.๕ ความร่วมมือทวิภาคี
๑.๕.๑ ด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างประเทศไทยกับฮังการีเป็นสาขาที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ลงนามเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นกรอบใหญ่ และทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรไทย-ฮังการีทุก ๒ ปี โดยมีการประชุมมาแล้ว ๗ ครั้ง ล่าสุด ฝ่ายฮังการีเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๕ - ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่กรุงบูดาเปสต์ โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และนาย Lajos Bognar รองปลัดกระทรวงด้านการควบคุมห่วงโซ่อาหาร และอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรของฮังการี เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายฮังการี ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารในยุคดิจิทัล การพัฒนาการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด มาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การเพิ่มผลผลิตทางปศุสัตว์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๘ เมื่อปี ๒๕๖๔ ผ่านระบบประชุมทางไกล
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๒ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เดินทางเยือนฮังการีเพื่อหารือความร่วมมือกับฝ่ายฮังการีในด้านการเกษตรและปศุสัตว์ รวมทั้งการควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและป้องกันการแพร่ระบาดจากประเทศเพื่อนบ้าน
๑.๕.๒ ด้านการศึกษา ฮังการีดำเนินนโยบายทางการทูตผ่านการให้ทุนการศึกษา
โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเอกสารโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ไทย-ฮังการี ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ - ๒๐๑๘ และต่อมาได้ต่ออายุไปจนถึงปี ๒๐๒๑ ซึ่งฮังการีได้เริ่มให้ทุนการศึกษา Stipendium Hungaricum ในระดับปริญญาตรี โท และเอก แก่นักศึกษาไทยตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ปีละ ๔๐ ทุน ในสาขาการเกษตร การแพทย์ วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์
ทั้งนี้ มีประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
๑.๕.๓ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤตมหาอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ฮังการีได้บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และแสดงความประสงค์ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้แก่ประเทศไทยทั้งในกรอบทวิภาคี กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำดานูบกับประเทศลุ่มน้ำโขง และกรอบสหประชาชาติ นอกจากนี้ ฮังการียังได้ส่งผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีเข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Water Summit ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วม Budapest Water Summit 2013 ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี
ในระหว่างการประชุม Political Consultation ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ ฝ่ายฮังการีได้มอบเอกสารความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่างยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำดานูบของสหภาพยุโรปกับลุ่มน้ำโขง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้จัดส่งร่างโต้ตอบตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งให้แก่ฝ่ายฮังการีเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายฮังการี ทั้งนี้ ประเทศไทยประสงค์จะศึกษารูปแบบการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการดานูบ เพื่อนำมาปรับปรุงการบริหารจัดการแม่น้ำโขงทั้งในด้านการจัดการน้ำ ชลประทาน การเกษตร การเดินเรือ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว
ต่อมา นายเปเตอร์ ซิยาร์โท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี ได้เชิญพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ และคณะผู้แทน สทนช. และกรมชลประทานได้เยี่ยมชมโรงงาน Central Budapest Wastewater Treatment Plant ที่เป็นโรงบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลาง และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วไปใช้ในการเกษตรและการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการบริหารจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับนาย Sándor Pintér รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยฮังการี ระหว่างการประชุม Budapest Water Summit 2019 ที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ กำหนดสาขาความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ การบริหารจัดการน้ำและน้ำเสีย การศึกษา การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับน้ำ รวมทั้งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Steering Committee: JSC) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับฮังการี
การประชุม JSC ได้ขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่กรุงบูดาเปสต์ (ฝ่ายฮังการีเป็นเจ้าภาพ)
๒. ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
๒.๑ ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๑) ซึ่งปัจจุบัน ยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากฮังการีเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และมีการจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี แทน
๒.๒ พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าฮังการี (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๔)
๒.๓ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘) ปัจจุบัน ยกเลิกไปแล้วตามการยกเลิกความตกลงทางการค้าตามข้อ ๒.๑
๒.๔ อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๒)
๒.๕ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๔)
๒.๖ ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๔)
๒.๗ ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒)
๒.๘ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งและการสื่อสาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๙)
๒.๙ หนังสือแสดงเจตจำนงสถาปนาความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับรัฐบาลท้องถิ่นกรุงบูดาเปสต์ (Letter of Intent of Cooperation between Bangkok Metropolitan Administration and Local Government of Budapest) (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐)
๒.๑๐ บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกฮังการีกับธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑)
๒.๑๑ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (ลงนามครั้งแรกวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๗ และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘ และต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงฯ ฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒)
๒.๑๒ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๓)
๒.๑๓ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-ฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๔)
๒.๑๔ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ลงนามเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗)
๒.๑๕ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี (ลงนามเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗)
๒.๑๖ บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) กับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘)
๒.๑๗ เอกสารโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ไทย-ฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐)
๒.๑๘ สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑)
๒.๑๙ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกับกระทรวงมหาดไทยฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒)
๒.๒๐ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมวยไทย (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔)
๒.๒๑ หนังสือแสดงเจตจำนงสถาปนาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล
กับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬาของฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕)
๒.๒๒ บันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียกับมหาวิทยาลัยการบริการด้านสาธารณะของฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๕)
๒.๒๓ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสังคม และสมาร์ทซิตี้ระหว่างสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นกับหน่วยงานไม่แสวงผลกำไรด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๕)
๒.๒๔ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ กับ Hungarian Diplomatic Academy กระทรวงการต่างประเทศ
และการค้าฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๕)